หน้าเว็บ

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

โครงการค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

                                                                        บทที่ 1


                                                                        บทนำ



หลักการและเหตุผล

                 ปัจจุบันสิ่งแวดล้อม และ ทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่รอบตัวเราถูกทำลาย ลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เช่น การเกิดภาวะโลกร้อน แผ่นดินไหว น้ำท่วม น้ำเน่าเสีย การทำลายป่าไม้ ฯลฯ ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ นับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างไม่หยุดยั้ง ถึงแม้ว่าในการจัดการเรียนการสอน รายวิชาวิทยาศาสตร์ทุกระดับชั้น ได้กำหนดให้มี การสอนในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการที่จะสร้างให้นักเรียนเกิดจิตสำนึกที่ดี ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดได้อย่างแท้จริง การจัด การเรียนการสอนในห้องเรียน เน้นให้นักเรียนได้รับการฝึกปฏิบัติทักษะในด้านต่างๆทางวิชาการ แต่ยังขาดทักษะทางด้านสังคม อันเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข วิธีการที่สามารถแก้ปัญหานี้วิธีการหนึ่ง คือ การจัดให้นักเรียนได้มีโอกาสได้เข้าค่ายวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อม เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง รวมทั้งได้ปฏิบัติกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึกที่ดี ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่อยู่รอบตัว ได้ดีกว่าการเรียนในเนื้อหา เพียงเท่านั้น เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน และสนใจแสวงหาความรู้จากแหล่งต่างๆที่อยู่รอบตัว อีกทั้งยังส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ในสังคมได้เป็นอย่างดีและรู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์



วัตถุประสงค์



1. เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียนในการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม

2. เพื่อให้นักเรียนเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และกระตุ้น ให้เกิดจิตสำนึก
    ในการรักษาสิ่งแวดล้อม

3. เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสในการเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตของตนเองที่จะมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า

4. เพื่อสนับสนุนนักเรียนให้เกิดการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ควบคู่กับการปฏิบัติจริง

5. เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาเปรียบเทียบสภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนตำบลกำโลนกับสภาพสิ่งแวดล้อม
     นอกชุมชนตำบลกำโลน

เป้าหมาย

เชิงปริมาณ

               นักเรียนโรงเรียนประถมศึกษาในตำบลกำโลน เข้าร่วมกิจกรรมโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 จำนวน 230 คน

เชิงคุณภาพ

1. นักเรียนเกิดจิตสำนึกที่ดีในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวในชุมชนตำบลกำโลน

2. นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียนและสนใจแสวงหาความรู้
     จากแหล่งต่างๆที่อยู่รอบตัว

3. นักเรียนรู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้เป็นอย่างดี

สถานที่ดำเนินการ

           โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๗๔

กลุ่มเป้าหมาย

            นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 230 คน

ระยะเวลาดำเนินการ

            วันที่ 16 -17 กันยายน 2553

การติดตามประเมินโครงการ

             หลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินงานตามโครงการ ค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ประมาณ 1 สัปดาห์

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการวิทยาศาสตร์
    และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชนตำบลกำโลน และนอกตำบลกำโลน เพิ่มมากขึ้น

2. ครูและบุคลากรอื่นๆ ในโรงเรียนได้เห็นกิจกรรมและตัวอย่างของการร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
   เกิดความตระหนักในความจำเป็นที่บุคลากรในโรงเรียนจะต้องร่วมมือกันพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

3. นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม ได้มีโอกาสทำงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการนำเสนอแนวคิดและประสบการณ์
     การร่วมกัน ส่งผลให้เกิดความตระหนักและเกิดจิตสำนึกในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

4. นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนของตนได้

                                              

                                                                  บทที่ 2

                                                              การดำเนินงาน

การจัดค่ายการวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม มีขั้นตอนในการดำเนินการ ดังนี้

      1. ขั้นการเตรียมการก่อนจัดค่าย

            1.1จัดทำโครงการ

            1.2 การเตรียมงานด้านวิชาการ

           1.3 การเตรียมงานด้านนันทนาการ

           1.4 การเตรียมงานด้านสถานที่

  2. ขั้นการเตรียมการวันเปิดค่าย

        2.1 รูปแบบพิธีเปิดค่าย

      2.2 ประธานพิธีเปิดค่าย

      2.3 สถานที่เปิดค่าย

       2.4 ผู้รับผิดชอบพิธีเปิดค่าย

3. ขั้นการจัดการระหว่างดำเนินกิจกรรมค่าย

      3.1 การจัดการประชุมร่วมกันทุกฝ่าย

      3.2 สรุปมติที่ประชุมเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรค

      3.3 ในกรณีมีปัญหาหรืออุปสรรคระหว่างการจัดค่าย ให้ผู้รับผิดชอบโครงการติดต่อดำเนินการเพื่อ
             แก้ปัญหาตามมติที่ประชุม

 4. ขั้นเตรียมการวันปิดค่าย

          4.1 รูปแบบพิธีปิดค่าย

         4.2 ประธานพิธีปิดค่าย

        4.3 สถานที่ปิดค่าย

      4.5 ผู้รับผิดชอบพิธีปิดค่าย

5. ขั้นการประเมินผลการจัดค่าย

       5.1 ผู้รับผิดชอบการประเมินค่าย

      5.2 ประเมินสภาพโดยทั่วไป

      5.3 ประเมินรูปแบบการจัดค่าย

       5.4 ประเมินความรู้

       5.5 ประเมินเจตคติทางวิทยาศาสตร์

ขั้นตอนในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ และสิ่งแวดล้อมเมื่อนำมาเขียนเป็นแบบแผนผังการดำเนินการได้ดังนี้

            การเตรียมการก่อนการจัดค่าย
           การเตรียมการวันเปิดค่าย
          การจัดการระหว่างการดำเนินกิจกรรมค่าย
          การเตรียมการวันปิดค่าย
          (มีศรชี้แต่ยังหาเครื่องมือไม่พบ)

การประเมินผล ข้อมูลการประเมินค่าย

1. ขั้นเตรียมการก่อนการจัดค่าย

            ในการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม นั้นควรมีการเตรียมการล่วงหน้าให้มีความพร้อมก่อนที่จะมีการเปิดค่าย ระยะเวลาที่ใช้ในการจัดค่าย จำนวนนักเรียนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมรวมถึงจำนวนกิจกรรมที่จะจัดให้มีขึ้นซึ่งต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ขั้นตอนในการดำเนินการจัดค่ายวิทยาศาสตร์มีดังนี้

           1.1.จัดทำโครงการ ตั้งชื่อโครงการ แสดงหลักสูตรหรือกิจกรรม การศึกษาระบบนิเวศป่าไม้ ระบบนิเวศป่าชายเลน และ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เขียนหลักการและเหตุผล กำหนดวัตถุประสงค์ในโครงการให้สอดคล้องกับการศึกษาความต้องการจำเป็น ให้มีความชัดเจน ก่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันทุกฝ่าย สามารถวัดประเมินผลได้ กำหนดเนื้อหาหลักสูตร กำหนดโดยคณะครูวิทยาศาสตร์ของทุกโรงเรียน กำหนดวิทยากรประจำฐานการเรียนรู้ อธิบายรายละเอียดของหลักสูตร แบ่งเนื้อหาออกเป็นหมวดย่อย บอกวัตถุประสงค์ของแต่ละหัวข้อ บอกเทคนิคและกิจกรรมที่ใช้ในแต่ละหัวข้อวิชา บอกระยะเวลาในแต่ละหัวข้อวิชา/แต่ละกิจกรรม บอกชื่อวิทยากรในแต่ละหัวข้อวิชา/ ทีมงานวิทยากร บอกชื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ กำหนดระยะเวลาในการจัดค่าย โดยใช้เวลา 2 วัน กำหนดสถานที่ใช้ในการจัดค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร ระยะทาง เวลาในการเดินทาง และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

        1.2 ระบุรายชื่อวิทยากร มีความรู้ในหัวข้อวิชาที่จัดค่าย มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ เพิ่มเติมวิทยากรจากหน่วยงาน เช่น เจ้าหน้าที่โรงสูบน้ำท่าดี ชลประทาน และโรงกรองน้ำประปาเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และภูมิปัญญาที่ให้ความรู้เรื่องป่าชายเลน ระบุประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ กำหนดผู้รับผิดชอบโครงการ โดยระบุชื่อ/คณะบุคคล ผู้มีส่วนรับผิดชอบโครงการ

       1.3 จัดทำตารางกิจกรรมในค่ายแต่ละวันกำหนดเวลาช่วงต่างๆ ชื่อกิจกรรมในช่วงเวลาต่างๆ ชื่อวิทยากรและทีมงาน ผู้รับผิดชอบหรือ ผู้ประสานงาน กำหนดวิธีกาให้ความรู้ร เช่น บรรยาย กิจกรรมกลุ่ม นันทนาการ เกม เพลงฯลฯ กำหนดสื่อหรือวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ เช่น สไลด์ วีดีทัศน์ แผนภาพแผนภูมิ ฯลฯ


แสดงรายชื่อสมาชิก แสดงรายชื่อผู้สมัครร่วมโครงการค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม แสดงแผนงบประมาณในการจัดค่ายแสดงแหล่งที่มีของงบประมาณแสดงประมาณการ รายรับ – รายจ่าย

1.2 การเตรียมงานด้านวิชาการ

            งานด้านวิชาการหรือความรู้ รวมถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความรู้ที่จัดค่ายอยากให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับตามวัตถุประสงค์นั้นนับว่ามีความสำคัญมาก และต้องใช้เวลารวบรวมข้อมูล การติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่มีตามวัตถุประสงค์ของค่ายที่ตั้งไว้ การเตรียมงานด้านวิชาการ

              การศึกษาและสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการจัดประสบการณ์ตรงให้กับนักเรียน แต่จะเน้นในเรื่องของการศึกษาระบบนิเวศในธรรมชาติหรือสภาวะแวดล้อมเป็นหลัก สามารถจัดกิจกรรมได้มากมายตามสถานที่ที่จัดค่าย ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับระบบนิเวศนั้น ๆ เช่นป่าชายเลน ป่าเขา น้ำตก สวนผลไม้ เป็นต้น

                 การศึกษาและดูงานในหน่วยงาน และสถานที่ต่างๆ เป็นการเพิ่มประสบการณ์ตรงแก่นักเรียนจากแหล่งความรู้ปฐมภูมิ นักเรียนสามารถศึกษา และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยตรงในทันที ก่อให้เกิดความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ และเจตคติที่ดีได้แหล่งเรียนรู้ที่จะพาไปดูงาน ได้แก่โรงสูบน้ำท่าดี หน่วยงานชลประทาน ฝายกั้นน้ำ โรงประปาเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช อุทยานเขาหลวง แหล่งต้นน้ำ และป่าชายเลนอ่าวปากนคร นครศรีธรรมราช

             การบรรยายทางวิชาการ กิจกรรมนี้คล้ายกับการเรียนการสอนในห้องเรียน แต่วิทยากรที่มาบรรยาย ควรเป็นบุคคลที่มีความรู้จริงและปฎิบัติงานอยู่ในหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้นักเรียนได้รับข้อมูลโดยตรงจากบุคคลเหล่านั้น เป็นการสร้างเจตคติที่ดีในการศึกษาและการทำงานทางวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียน

          การปฏิบัติการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในสถานที่เตรียมไว้ เช่น อาจจัดสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้นักเรียนทดลองปฏิบัติเป็นเรื่องๆ แล้วนักเรียนหมุนเวียนกันปฏิบัติการทดลองจนครบ

        1.3. การเตรียมงานด้านนันทนาการ

                กิจกรรมด้านนันทนาการเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อความสนุกสนาน ให้นักเรียนได้ผ่อนคลาย ส่งเสริมการแสดงออก ความเป็นผู้นำ ความสามัคคี และให้มีความคิดสร้างสรรค์ กิจกรรมนันทนาการในค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมตัวอย่างเช่น การเล่นเกม การวาดภาพ การไปเที่ยวชมสิ่งแวดล้อมนอกสถานที่ มีการจัดเวลาให้เหมาะสมอาจใช้เวลาเพียง 15-30 นาที ก่อนหรือหลังกิจกรรมทางวิชาการนักเรียนก็จะรู้สึกว่าได้พักผ่อน นักเรียนจะเกิดความประทับใจที่ดีต่อการอยู่ค่ายวิทยาศาสตร์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการจัดกิจกรรมนันทนาการในค่ายวิทยาศาสตร์ก็เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อการอยู่ค่ายวิทยาศาสตร์ของนักเรียนนั้นเอง

             1.4. ขั้นการเตรียมการวันเปิดค่าย

ขั้นการเตรียมการวันเปิดค่าย ประธานหรือผู้อำนวยการค่ายต้องเตรียมการดังนี้

                1.4.1 ฝ่ายสถานที่ เตรียมจัดห้อง โต๊ะ เก้าอี้โต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูป พร้อมดอกไม้ธูป เทียน ไม้ขีดไฟ
                          ติดป้ายโครงการ

                 1.4.2 เตรียมการต้อนรับครูและนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ ที่เข้าค่ายโดยแนะนำเรื่องการรายงานตัว
                          ให้นักเรียนรู้ว่าอยู่กลุ่มไหน สีของกลุ่มสีอะไร สถานที่เข้าค่าย

                1.4.3 ฝ่ายรับรายงานตัว ต้องเตรียมรายชื่อนักเรียนทั้งหมด เอกสารสำหรับแจกนักเรียน ป้ายชื่อนักเรียน
                         ป้ายห้อยคอแสดงสีของกลุ่ม เป็นต้น เมื่อนักเรียนมารายงาตัวให้แจกเอกสารพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ
                         ที่กำหนดให้

                1.4.4 ฝ่ายพิธีการ กำหนดรูปแบบของพิธีเปิด ร่วมกับ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เตรียมเอกสาร คำกล่าวรายงาน
                         เตรียมเชิญประธานเปิดค่าย เชิญประธานโครงการกล่าวคำรายงาน เชิญประธานกล่าวคำเปิดค่าย

               1.4.5 ฝ่ายเตรียมเครื่องเสียงและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งบันทึกภาพตลอดงาน

               1.4.6 ฝ่ายพยาบาล เตรียมกระเป๋าพยาบาลให้พร้อม

              1.4.7 ฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม ติดต่อผู้ประกอบการกำหนดประเภทของอาหาร จำนวน นัดหมายวัน เวลา
                      และสถานที่รับประทานอาหาร ให้มีอาหารและเครื่องดื่มเพียงพอตลอดการเข้าค่าย

              1.4.8 ฝ่ายดูแลนักเรียนและรักษาความปลอดภัย แนะนำนักเรียนเรื่องกฎ กติกาการเข้าค่าย แนะนำ
                       ให้นักเรียน ได้รู้จักกับบุคลากรเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ดูแลนักเรียนระหว่างดำเนินการทำกิจกรรม

             1.4.9 ฝ่ายเตรียมเอกสาร จัดเตรียมเอกสารประกอบการเข้าค่าย

           1.4.10 ฝ่ายประเมินผลการจัดค่าย จัดเตรียมเอกสารการประเมิน ดำเนินการประเมินรวบรวบเอกสารการประเมิน
                     จัดทำข้อมูล วิเคราะห์ และสรุปผลการจัดค่าย

2. ขั้นการจัดการระหว่างดำเนินกิจกรรม

วิธีดำเนินงาน : แบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ช่วง

ช่วงที่ 1 จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 16 – วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2553 ( 2 วัน )

: บริเวณหน้าห้องประชุม โรงเรียนไทยรัฐวิทยา ๗๔

ช่วงที่ 2 กิจกรรมค่าย ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 16 – วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ( 2 วัน )

            วันแรก มีกิจกรรมเปิดค่าย ชมนิทรรศการ ศึกษาแหล่งเรียนรู้ในชุมชน ศึกษาพรรณไม้ พรรณสัตว์ ทดสอบคุณภาพของแหล่งต้นน้ำ โดยแบ่งเป็น 5 ฐานการเรียนรู้ ฐานที่ 1 บนภูเขาหลวง ฐานที่ 2 บริเวณน้ำตกวังไม้ปัก ฐานที่ 3 คลองท่าหา ฐานที่ 4 บริเวณแหล่งน้ำในชุมชน หน้าวัดคีรีวง ฐานที่ 5 บริเวณหน้าวัดสมอ หลังจากเสร็จกิจกรรมทุกคนมาพร้อมกันที่ห้องประชุมตัวแทนกลุ่มนำเสนอผลงานและสรุปการปฎิบัติกิจกรรมในแต่ละฐาน

           วันที่สอง เตรียมความพร้อมของนักเรียนทุกโรงเรียนที่โรงเรียนวัดโคกโพธิ์สถิตย์ ผู้รับผิดชอบโครงการชี้แจงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมประจำวัน แนะนำฐานการเรียนแต่ละฐาน ชี้แจงเส้นทางและจุดนัดพบ เริ่มจากฐานที่ 1 โรงสูบน้ำคลองท่าดี ฐานที่ 2 คลองชลประทานท่าดี ฐานที่ 3 ฝายกั้นน้ำคลองท่าดี และฐานที่ 4 โรงกรองน้ำประปาเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช พักรับประทานอาหารกลางวันที่อุทยานแห่งการเรียนรู้สวนนครินทร์(ทุ่งท่าลาด) แล้วเดินทางไปศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน ที่อ่าวปากนคร เดินทางกลับโรงเรียน

ช่วงที่ 3 กิจกรรมค่ายสรุปผลการดำเนินโครงการของนักเรียนสรุปองค์ความรู้ที่ได้ร่วมกัน

             ประธานค่ายฯจัดการประชุมร่วมกับทุกฝ่ายภายหลังจากเสร็จกิจกรรมในแต่ละวัน เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน บันทึกปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินกิจกรรมทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันที และได้ข้อมูลสำหรับปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมต่อไป

           ทั้งนี้เพื่อดำเนินกิจกรรมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งน้ำทั้งระบบโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ แหล่งน้ำธรรมชาติ ให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพนักเรียนให้เป็นผู้นำด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เชื่อมร้อยเครือข่ายแต่ละโรงเรียนในตำบลกำโลน และสร้างการมีส่วนร่วม ในการคืนธรรมชาติสู่แม่น้ำลำคลอง เชื่อมโยงตลอดสายน้ำ นำไปสู่การแก้ไขปัญหา และเกิดการมีส่วนร่วมจากทุกโรงเรียนอย่างแท้จริง

3. วันปิดค่าย

               ผู้อำนวยการค่ายหรือผู้รับผิดชอบโครงการ และผู้รับผิดชอบ สรุปองค์ความรู้ของกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ตัวแทนนักเรียนแต่ละโรงเรียนแสดงความคิดเห็น ผู้รับผิดชอบโครงการกล่าวรายงานแก่ประธาน ประธานในพิธีมอบวุฒิบัตร กล่าวปิดค่าย

4. ขั้นประเมินผลการจัดค่ายในการประเมินค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมมีขั้นตอนการประเมินผลดังนี้

      การประเมินสภาพแวดล้อม

      การประเมินปัจจัยเบื้องต้น

     การประเมินกระบวนการ

    การประเมินผลผลิต

     การประเมินสภาพแวดล้อม

             การประเมินสภาพแวดล้อมหรือการประเมินบริบท เป็นการประเมินวัตถุประสงค์ของค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม เนื้อความสภาพทั่วๆ ไปหรือปัญหาที่จะนำไปสู่การพัฒนาวัตถุประสงค์หรือปรับปรุงหลักสูตรการจัดค่าย อีกผู้จัดต้องทราบว่าจะพัฒนาค่ายได้อย่างไรให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือพัฒนาให้ค่ายมีความน่าสนใจมากขึ้น

                                                   การประเมินปัจจัยเบื้องต้น

              เป็นการประเมินตัวแปรที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยากร ผู้เข้าค่าย เอกสาร ประกอบ การเข้าค่าย สื่อที่ใช้จัดกิจกรรม โสตทัศนูปกรณ์ สถานที่จัดค่าย อาหาร ที่พักเป็นต้น การประเมินเบื้องต้นทำให้ได้ข้อมูลของปัจจัยที่ดีอยู่แล้ว ปัจจัยใดที่ควรต้องปรับปรุงผลของการประเมินมีส่วนช่วยในการตัดสินใจในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดอย่างมีคุณภาพ

                                           การประเมินกระบวนการ

               เป็นการประเมินเพื่อหาข้อมูลที่เป็นแนวทางหรือวิธีการปฏิบัติ การประเมินค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ในด้านกระบวนการนี้ได้แก่ การประเมินกระบวนการจัดกิจกรรมทักษะทางวิทยาศาสตร์ การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าวิธีดำเนินการที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการจัดกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถนำไปปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ในรูปแบบค่ายได้จริงหรือไม่ มีขั้นตอนใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ข้อมูลที่ได้สามารถนำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนขั้นตอนการดำเนินการให้เหมาะสมกับชุมชนนั้นๆ


                                                      การประเมินผลผลิต

                 เป็นการประเมินความสำเร็จของโครงการ หรือเป็นการประเมินผลผลิตที่ได้จากหลักสูตรการจัดค่าย โดยการนำผลที่ได้จากการวัดเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว และทำการแปลผลโดยอาศัยรายงานจากประเมินสิ่งแวดล้อม การประเมินปัจจัยเบื้องต้น และการประเมินกระบวนการ



                                                    บทที่ 3 สรุปผลการดำเนินงาน



เชิงปริมาณ

ผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 230 คน, ได้ผลงาน…จำนวน…230 เล่ม

เชิงคุณภาพ

          1. นักเรียนที่เข้าค่ายมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ สร้างเสริมความสามารถและศักยภาพ เกิดการเรียนรู้
              แบบบูรณาการ

        2. นักเรียน เข้าใจกระบวนการทำงานระบบกลุ่ม ฝึกความเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี


                       ผลการใช้จ่ายงบประมาณ ระบุแหล่งงบประมาณและค่าใช้จ่ายตามประเภท เช่น

ค่าตอบแทน ค่าใช้สอย ค่าวัสดุ

งบประมาณ (ถัวเฉลี่ยทุกรายการ)

                          1. ค่ายานพาหนะ ค่ารถ-เรือไปแหล่งเรียนรู้ จำนวน 30,000 บาท

                        2. ค่าอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 30,000 บาท

                       3. ค่าวัสดุ-อุปกรณ์จัดนิทรรศการห้องประชุม จำนวน 5,000 บาท

                     4. ค่าวัสดุอุปกรณ์ หรือสารเคมีที่ใช้ในการทดลอง จำนวน 5,000 บาท

                    5. ค่ายาและอุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลขั้นต้น จำนวน 5,000 บาท

                                                                                    รวม 75,000 บาท


                                               

                                              ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอื่นๆ



             1. ควรมีบริการจัดค่ายวิทยาศาสตร์ในปีต่อๆไปอีก จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆให้กับนักเรียน
                และครูวิทยาศาสตร์

            2. เป็นโครงการที่ดีที่ทาให้ครูได้นำกิจกรรมไปใช้กับนักเรียนให้เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบยั่งยืน

           3 . เป็นการจัดค่ายที่ดี

          4. อยากให้จัดค่ายนานกว่านี้

          5. เห็นว่าค่ายนี้เป็นค่ายที่ให้ความรู้ดีมาก

          6. อยากให้เปลี่ยนจากการทดลองเป็นการทำอย่างอื่น เช่น การตอบคำถามเกี่ยวกับความรู้ต่าง ๆ

         7. น่าจะมีการทากิจกรรมนันทนาการมากไปกว่านี้ กิจกรรมนันทนาการสนุกมากมาย
             และน่าจะมีการเข้าค่ายนี้นาน ๆ หน่อยก็น่าจะดี

         8. อยากให้จัดเป็นการเข้าค่าย 2 คืน 3 วัน และมีเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น

        9. อยากให้จัดค่ายอย่างนี้อีกทุก ๆ ปี สนุกมาก ๆ ได้ความรู้ ได้เพื่อนคนใหม่

       10. อยากให้จัดค่ายวิทยาศาสตร์อีก สนุกดี และได้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น ขอให้จัดอีก

       11. อยากให้มีฐานการเรียนรู้เยอะกว่านี้

      12. อยากให้มีกิจกรรมนี้อีกแต่ขอให้เปลี่ยนโรงเรียนบ้าง




พิธีเปิดค่าย  ผอ.ประวิทย์   สุขสมโสด

ครูเกษร   กล่าวรายงาน



เดินไปฐานการเรียนรู้  ศึกษาธรรมชาติบนเขาหลวง


ฐานน้ำตกวังไม้ปัก

เตรียมพร้อมที่โรงเรียนวัดโคกโพธิ์สถิตย์  ก่อนไปศึกษาสิ่งแวดล้อมป่าชายเลน


คลองส่งน้ำท่าดี  เพื่อผลิตประปาใช้ในเทศบาลนคร


โรงงานกรองน้ำประปา

ศึกษาระบบนิเวศป่าชายเลน  ที่อ่าวนคร ปากนคร
พิธีปิดและมอบเกียรติบัตรการเข้าค่ายฯ จากปลัด  อบต.กำโลน